ปัจจุบันการแข่งขันด้านธุรกิจมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทุกธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital Transformation ในขณะที่เศรษฐกิจโลกก็เต็มไปด้วยการแข่งขันด้านการกีดกันทางการค้าอาทิเช่น อเมริกา กับ จีน ที่เป็นประเทศมหาอำนาจของโลก เป็นต้น การกีดกันทางการค้านั้นส่งผลกระทบทางตรงกับธุรกิจที่มีขนาดเล็กหรืออาจจะกระทบกับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยก็เป็นไปได้
จากสภาวการณ์ของเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันสูง บวกกับทุกธุรกิจจำเป็นต้องทำ Digital Transformation นั้น โรคภัยจากโควิด-19 (COVID-19) ก็เข้ามาซ้ำเติมแผลเดิมของภาคเศรษฐกิจอีก ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีความห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
KKP Research ได้ทำการวิเคราะห์ภาพรวมความเหลื่อมล้ำไทยคือ
1. ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยปรับตัวดีขึ้นแต่เกิดจากการรับเงินโอนจากภาครัฐและคนในครัวเรือน มิใช่จากผลิตภาพของแรงงานที่มากขึ้น
2. ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่นคั่งสูงที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลกและยังคงเพิ่มขึ้นเร็ว
3. ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จากตัวเลขทางการอาจต่ำกว่าความเป็นจริงจากข้อจำกัดด้านข้อมูล
4. ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยอัตราเติบโตลดลงเรื่อย ๆ พบว่ารายได้เติบโตเฉพาะในกลุ่มคนรวย
งานศึกษาพบว่า ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยถูกขับเคลื่อนจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยเฉพาะตัว ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Disruption)
2. ปัจจัยภายในที่เกิดจากนโยบายในประเทศ ได้แก่ โครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายตลาดแรงงานและนโยบายภาษี
ผลสำรวจยังพบอีกว่า ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยเป็นผลลัพธ์จากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในเฉพาะเชิงนโยบายของประเทศไทยเองที่ไม่เอื้อต่อการเลื่อนสถานะทางสังคม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ความเหลื่อมล้ำลดลงแต่กลับเร่งขึ้นอีกจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
แม้ว่าคนไทยทำอาชีพเกษตรกว่า 30% แต่คนกลุ่มนี้สร้างรายได้เพียง 6% ของรายได้รวมทั้งประเทศเท่านั้น ทำให้การประกอบอาชีพของคนไทยไม่สอดคล้องกับรายได้ของคนไทยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นอย่างมาก
ยิ่งในปี 2012-2015 เกิดวิกฤติด้านราคาน้ำมันตกต่ำทั่วโลก ส่งผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำไปด้วยซึ่งส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยิ่งมีรายได้ลดลงส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
2. เกิดมาจนแต่สร้างตัวจนร่ำรวย เป็นไปได้จริงหรือไม่
ความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ได้สะท้อนภาพด้านรายได้เพียงเท่านั้น ยังสะท้อนด้านสังคมส่งผลกระทบกับด้านการศึกษาซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มาจากการวางแผนเชิงโครงสร้าง หรือการกำหนดนโยบายของภาครัฐเองทำให้ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ดังนี้
- ประเทศไทยยังขาดโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม
- แรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง ธุรกิจขนาดเล็กแข่งขันยาก
- ขาดสวัสดิการและกลไกลดความเหลื่อมล้ำ
เหตุผลดังกล่าวทำให้คนที่มีความพยายามหรือมีความขยันก็อาจจะไม่สามารถมีโอกาสหรือช่องทางทำมาหากินได้เท่ากับคนที่มีต้นทุนด้านสังคมที่ดีกว่า จึงทำให้คนที่มีแต่ความพยายามหรือคนขยันก็อาจจะไม่สามารถร่ำรวยได้หากขาดการเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษาและเทคโนโลยีที่เท่าเทียม
3. โควิด-19 ทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำแย่ลง
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบกับรายได้ประชาชนเป็นวงกว้าง ภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว ภาครัฐบาลก็ต้องปรับตัว แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถปรับตัวได้ทันตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น โควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจต้องทำ Digital Transformation หรือการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้ทันต่อสถานการณ์ เช่น การ Work From Home เป็นต้น ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการทำงานของที่บ้านได้ นี่จึงเป็นเหตุให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
4. การเข้าสู่สังคมสูงอายุจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ในขณะที่รายได้ของประชาชนมีน้อยอยู่แล้ว ทำให้การเก็บเงิน หรือเก็บสะสมความมั่งคั่งนั้นเป็นเรื่องยากมาก ยิ่งประชาชนมีอายุสูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการหาเงินนั้นน้อยลงไปด้วย แต่อาจจะไม่ส่งผลกระทบกับคนที่มีฐานะซักเท่าไหร่ ซึ่งคนเหล่านี้ก็มีอยู่น้อยมาก ทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นไปได้
ประเด็นสำคัญคือ เราจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างไร ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ยากและละเอียดอ่อนมากที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำนั้นหมดไป แต่จากข้อมูลงานวิจัยของ KKP ได้เสนอว่า การลดความเหลื่อมล้ำนั้นอาจจะแก้ไขโดยการกำหนดนโยบายของทางภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมซึ่งจะส่งผลกระทบระดับประเทศได้ โดยวิธีแก้ไขความเหลื่อมล้ำหรือกลไกลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ สามารถแบ่งได้ 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. กลไกทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม รัฐควรสร้างเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแข่งขันบนความเท่าเทียม หรือปฏิรูปกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ เช่น นโยบายสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐ ทำการจัดซื้อจัดจ้างกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ได้ เป็นต้น ซึ่งนโยบายนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ได้มีโอกาสทำงานกับหน่วยงานรัฐได้ซึ่งอาจจะทดแทนรายได้ที่กำลังซื้อจากภาคเอกชนลดน้อยลงจากโควิด-19 (COVID-19) ได้
2. กลไกทางภาษีในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง การใช้ระบบภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้า และภาษีที่เก็บบนฐานของความมั่งคั่ง เช่น ภาษีที่ดิน รายได้จากทรัพย์สินและมรดก เป็นต้น
3. กลไกสวัสดิการของรัฐ ที่ทำให้ประชาชน เข้าถึงการศึกษา บริการทางสาธารณสุข สินเชื่อ ที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยกลไกนี้สามารถใช้กระบวน Digital Transformation เข้ามาช่วยในรูปแบบออนไลน์ได้ เช่น ให้ประชาชนได้เข้าถึงการศึกษาแบบออนไลน์ทำให้มีความรู้เท่าเทียมกับประชาชนที่อยู่ในเมืองใหญ่ หรือแม้แต่ระบบสินเชื่อที่ธุรกิจขนาดเล็กหรือคนที่ไม่มีหลักประกันสามารถกู้เงินผ่านระบบออนไลน์ได้แทนที่คนเหล่านั้นต้องไปกู้เงินนอกระบบเพื่อเอามาทำธุรกิจ
4. กลไกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งกระบวนการควรมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยอาจจะใช้ Digital Transformation ในรูปแบบของ Blockchain เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
5. กลไกกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลัง รัฐควรจัดสรรทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางการคลังไปสู่หน่วยงานท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายรายได้สู่ทุกพื้นที่ในประเทศโดยรัฐอาจจะใช้กระบวนการ Digital Transformation ได้ในส่วนของการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานท้องถิ่นแบบ Real-Time ได้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและสามารถกำกับดูแลการใช้งบประมาณได้อย่างเหมาะสม
จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำข้างต้นนั้นสามารถใช้วิธีการ Digital Transformation เข้ามาช่วยได้โดยทำให้ทุกภาคส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีความรวดเร็วในการบริหารงาน มากไปกว่านั้นรัฐบาลยังสามารถใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อนำมาวางแผนการพัฒนานโยบายหรือวางกลยุทธ์การพัฒนาประเทศกล่าวคือ ใช้ Data-Driven ในการบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง ในขณะที่ประชาชนควรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมเพราะมันจะส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษาและความรู้ทำให้ทุกคนมีความรู้ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศหรือแม้แต่ระดับโลกก็ได้ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะใช้เวลาแต่จะทำให้ประเทศมีความยั่งยืนในอนาคตได้ แต่ว่าการกำหนดนโยบายในระยะสั้นของภาครัฐก็จำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะปัจจุบันเกิดวิกฤติโควิด-19 (COVID-19) ทุกคนจำเป็นต้องการสภาพคล่องด้านการเงินเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงธุรกิจของตนเอง
ในมิติของภาคเอกชนเองก็ควรมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอาจจะศึกษาตัวอย่างของธุรกิจเดียวกันจากต่างประเทศที่เขาสามารถแก้ปัญหาธุรกิจได้แล้ว นำมาเป็นต้นแบบและปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลาและเงินทุนในการพัฒนาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
สุดท้ายนี้การใช้กระบวน Digital Transformation เข้ามาช่วยปรับกระบวนการทำงาน การทำธุรกิจ หรือการบริหารประเทศล้วนแล้วแต่สอดคล้องกันและต้องทำไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราคงหลีกหนีจากยุค Digital Disruption ไม่ได้ ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูล การใช้ข้อมูลมาประมวลผล แล้วคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องเริ่มทำอย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน