การขับเคลื่อนองค์กรด้วยการทำ Digital Transformation ของโอสถสภา

บริษัทโอสถสภา นับว่าเป็นหนึ่งในองค์กรที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยผู้คนมากมายย่อมรู้จักและคุ้นเคยกับชื่อขององค์กรแห่งนี้มาเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยภาพลักษณ์ขององค์กรที่มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้หลายคนไม่รู้ว่าที่จริงแล้ว โอสถสภา มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 130 ปี

อะไรที่ทำให้ โอสถสภา ประสบความสำเร็จ และสามารถผ่านอุปสรรคความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมาได้อย่างมั่นคง พร้อมกับแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่ยุคของการทำ Digital Transformation ที่ทำให้องค์กรนั้นมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลาและก้าวหน้าอย่างยั่งยืน


จากร้านขายยาเล็ก ๆ ก้าวไปสู่องค์กรขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของบริษัทโอสถสภา ซึ่งมีที่มาจากร้านขายของเบ็ดเตล็ดในย่านสำเพ็งที่มีชื่อว่า   ‘เต๊กเฮงหยู’ โดยสินค้าที่เป็นที่เลื่องลือของผู้คนในสมัยนั้น ได้แก่ ยากฤษณากลั่น ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในด้านการรักษาและบรรเทาอาการปวดท้องต่าง ๆ จนกระทั่งถูกทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ในการซ้อมรบของกิจการเสือป่าที่จังหวัดนครปฐม

จากความนิยมและชื่อเสียงของยากฤษณากลั่นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตอนนั้น ทำให้กิจการร้านขายของเบ็ดเตล็ดเริ่มขยับขยายและย้ายไปยังถนนเจริญกรุง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โอสถสถานเต๊กเฮงหยู’ ที่ผลิตยาสามัญประจำบ้านอีกหลายชนิดที่เราคุ้นเคยกันจนถึงทุกวันนี้ เช่น ยาอมโบตัน และยาทัมใจ เป็นต้น


Corporate Cultural Evolution คือ สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรในยุค Digital Transformation

หนึ่งสิ่งที่ทำให้โอสถสภา แตกต่างจากองค์กรใหญ่อื่น ๆ ที่มีอยู่มานานและมักจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา คือ ความสามารถในการปรับตัวขององค์กรให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ โดยเฉพาะในยุคของการทำ Digital Transformation ในตอนนี้ที่ทุกอย่างกำลังจะถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

เพื่อเป็นการปรับการทำธุรกิจให้ทันต่อความรวดเร็วในยุคดิจิทัล โอสถสภา ได้มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในองค์กรครั้งใหญ่ ให้บุคลากรที่เป็นฟันเฟืองหลัก สามารถก้าวข้ามแบบทดสอบครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้ ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่นำมาใช้ คือ แนวคิดการทำงานแบบ Agile

แนวคิดการทำงานแบบ Agile นั้นเป็นรูปแบบการทำงานที่เน้นความคล่องตัวในการทำงาน เพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี ในปัจจุบัน ทั้งนี้การทำงานในรูปแบบ Agile ไม่ได้ช่วยแค่ในเรื่องของความคล่องตัวในการทำงาน แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของงาน สินค้าหรือการบริการ และตอบโจทย์ในเรื่องของความต้องการของตลาดได้ดีกว่า เมื่อโอสถสภาได้มีการนำเอาแนวคิดการทำงานแบบ Agile เข้ามาปรับใช้กับการทำงานภายในองค์กร ทำให้วัฒนธรรมการทำงานต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม จึงกลายเป็นองค์กรที่มีการบูรณาการสูง เกิดการร่วมมือกันระหว่างพนักงานและองค์กร จนพัฒนามาเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และนอกจากนี้ ยังช่วยให้พนักงานทั้งองค์กรขับเคลื่อนไปด้วยเป้าหมายเดียวกันได้ดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับกลยุทธ์ การทำ Digital Transformation แล้ว ความท้าทายอีกหนึ่งอย่างขององค์กรที่อยู่มาอย่างยาวนาน คือ จะทำอย่างไร ให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคตได้ โดยไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านความแตกต่างของเจเนอเรชัน เพราะถ้าหากคนรุ่นใหม่ไม่สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมภายในองค์กรได้ วัฒนธรรมองค์กรที่ปรับเปลี่ยนไปก็อาจไม่ช่วยนำพาองค์กรก้าวไปสู่เส้นทางใหม่ได้จริง

อ้างอิง : https://techsauce.co/connext/career-insight/osodspa-the-big-company-that-has-adapted-itself-for-130-years-and-how-it-survive-in-digital-transformation-era?fbclid=IwAR2UYJMf5iVaD9ZSc_VbKPEhiil2pyk6FsrZk_sVTYz59HmukDVKdqij3fc

เมื่อ Outsourcing กลายเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของการ Transformation

AI + Cloud คืออนาคตของ Digital Transformation ในปี 2025