Blockchain & Digital Transformation จะเข้ามาพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยได้อย่างไร?

ในการที่จะพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยด้วยเทคโนโลยี Blockchain สามารถนำมาพัฒนาได้หลายด้าน แต่ด้านที่มีโอกาสมากที่สุด คือ การนำมาใช้พัฒนาระบบฐานข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์กลาง เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลประวัติผู้ป่วย เวชระเบียน และข้อมูลทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่จะส่งผลในการวินิจฉัยและการรักษาของแพทย์ รวมถึงยังเป็นการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ป่วย และหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ตลอดเวลา เพื่อนำข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์ แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้ในโรงพยาบาลอย่างเต็มรูปแบบ จะมีเพียงโครงการนำร่องที่ใช้ในวงจำกัด ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน และผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Transformation ภายในระบบสาธารณสุข และหากท่านผู้อ่านต้องการรู้จัก Digital Transformation ก็กดคลิกได้เลย

การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จะทำให้งานด้านสาธารณสุขของประเทศไทยพัฒนาได้หลากหลาย อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลประวัติผู้ป่วยและเวชระเบียนจะทำให้สะดวกต่อการให้บริการกับผู้เข้ามาใช้บริการอย่างรวดเร็ว ข้อมูลที่ได้ก็ไม่มีการบิดเบือน และมีความปลอดภัยสูง ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวจะมีการรั่วไหล รวมถึงการเข้ารับการรักษาต่างโรงพยาบาลก็จะเป็นไปได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องทำการซักประวัติใหม่ เพราะในบางครั้งตัวผู้ป่วยเองก็ยังจำไม่ได้ว่าตนเคยได้รับบาดเจ็บหรือเคยทานยาตัวใดมาบ้าง ที่สำคัญตัวผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ตรงจุดและได้รับคำวินิจฉัยที่ครบทุกด้าน ส่วนทางด้านการนำข้อมูลมาวิจัยเมื่อมีข้อมูลที่หลากหลาย มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือได้ จะส่งผลให้วิทยาการทางการแพทย์รุดหน้าต่อไปได้ในอนาคต ระบบหลังบ้านอย่างการเบิกจ่ายและการตรวจสอบที่ไปที่มาของยารักษาโรคจะมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นสามารถลดการทุจริตได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้งบประมาณที่เคยรั่วไหลในจุดนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนาระบบดังกล่าวต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ระบบเกิดขึ้นจริงได้ อุปสรรคใหญ่คือ ข้อมูลของสาธารณสุขมีจำนวนมหาศาลที่จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรทางสารสนเทศมารับรองอย่างเพียงพอ รวมถึงข้อจำกัดด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ นอกจากนี้ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวโดยวิธีการเข้ารหัสข้อมูลเป็นอีกหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญในการที่จะพัฒนาระบบ Blockchain เพื่อที่จะนำมาใช้งานด้านสาธารณสุข เนื่องจากข้อมูลเวชระเบียนรวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์มีความอ่อนไหวมาก และต้องคำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องระวังเช่นกัน อุปสรรคที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้นแต่ผลประโยชน์และความคุ้มค่าที่ได้รับในระยะยาวนั้นมีมากกว่า

ประโยชน์ของการนำ Blockchain มาใช้ในระบบสาธารณสุข

1.สร้างระบบในการจัดเก็บข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้อง

เทคโนโลยี Blockchain ใช้เป็นระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยและเวชระเบียนที่ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขสามารถแลกเปลี่ยนและนำข้อมูลเวชระเบียนไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และความถูกต้องของข้อมูล เนื่องด้วยข้อมูลที่อยู่ใน Blockchain จะอยู่ในรูปแบบการเข้ารหัสทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ป่วยแต่ละรายได้ โดยที่เจ้าของข้อมูลจะถือกุญแจส่วนตัวที่ใช้ถอดรหัสข้อมูล (Private Key) ของตนเอง โดยสามารถเลือกที่จะให้สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลได้ และหากมีการอัปเดตข้อมูลหรือมีการเข้าถึงข้อมูลการรักษาใด ๆ ก็ตาม ทุกอย่างจะถูกบันทึกใน Blockchain เสมอ

2.การตรวจสอบความโปร่งใสของยา

จุดเด่นของเทคโนโลยี Blockchain คือ ความโปร่งใสและการปลอมแปลงข้อมูลที่ทำได้ยาก ซึ่งเหมาะกับวงการยามาก เพราะบ่อยครั้งที่มีข่าวว่ามียาปลอมที่มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน อันเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้บริโภค และเมื่อผู้บริโภคได้ใช้ยาอาจจะก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงตามมาได้ โดย Blockchain จะถูกนำไปใช้ในการติดตาม และปรับปรุงการผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่ายยา เพื่อให้ยามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสามารถระบุถึงแหล่งที่มาของยาได้

แม้การเริ่มนำ Blockchain และ Digital Transformation มาปรับใช้กับสาธารณสุขไทยจะเกิดปัญหาและอุปสรรคตามมา แต่ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงปัญหาระยะสั้นเท่านั้น และสิ่งที่ได้กลับมาในระยะยาวถือว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่ลงมือทำ ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดล้วนต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และไม่ว่ายังไงเมื่อถึงเวลาเราก็ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบอยู่ดี

อ้างอิง: https://www.theeleader.com/blockchain/blockchain-can-be-applied-to-public-health-what-is-it/

Google Workspace หรือ Microsoft 365 ระบบไหนตอบโจทย์การทำงานในองค์กรของคุณ