Digital Transformation จะช่วยให้ธุรกิจ Lean ได้อย่างไร

หลายท่านอาจจะคิดว่าโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจ แต่จริง ๆ สิ่งที่ทำให้เกิด

การดิสรัปชัน (Disruption) คือ เทคโนโลยี โควิด-19 เป็นเพียงสิ่งที่เร่งให้โลกธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น หากไม่มีโควิด-19 รูปแบบธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันอาจจะเกิดใน 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้ นี่แสดงให้เห็นว่าสักวันหนึ่งธุรกิจก็จะต้องมีการปรับใช้เทคโนโลยีอยู่ดี และหากในวันนี้เรายังไม่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ธุรกิจของเราก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังและรอวันที่จะโดนดิสรัปชัน (Disruption) เท่านั้นเอง

Digital Transformation คือ

การนำเทคโนโลยีใด ๆ ก็ตามมาปรับใช้กับธุรกิจ โดยเทคโนโลยีนั้นจะเปลี่ยนกระบวนการทำงานของบุคลากรในองค์กรตั้งแต่การวางเป้าหมาย จนกระทั่งการบริการลูกค้า

(สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น คือ - Google เอกสาร)

Lean Thinking คือ

เป็นแนวทางการขจัดความสิ้นเปลือง และปราศจากความสูญเปล่าในทุกกระบวนการของทุกกิจกรรมที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว และเพิ่มความคล่องตัวให้กับธุรกิจ

การนำ Digital Transformation มาปรับใช้กับ Lean

1.การลดความสูญเสียเนื่องจากการผลิตมากเกินไป (Overproduction)

โดยปกติในกระบวนการผลิตสิ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสีย คือความเชื่อที่ว่าต้องมีการผลิตออกมาจำนวนมาก และมากเท่าที่จะมากได้ เพราะคิดว่าเมื่อผลิตทีละมาก ๆ จะช่วยให้ต้นทุนต่ำลง แต่เมื่อผลิตเกินกว่าความต้องการของลูกค้าในช่วงระยะเวลานั้น ๆ จะส่งผลให้เกิดค่าสินค้าคงคลังในการที่ต้องเพิ่มบุคลากรในการดูแลสินค้า ดูแลคลังสินค้า และสินค้าเสียหาย สิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากธุรกิจนำ Digital Transformation มาใช้ในกระบวนการนี้จะสามารถลดปริมาณสินค้าคงคลังได้ โดยการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าจากข้อมูลที่เรามีอยู่ เมื่อรู้ถึงความต้องการ เราก็จะสามารถผลิตสินค้าให้เหลือคงคลังน้อยที่สุด

2.การเก็บสินค้าคงคลัง (Inventory)

การเก็บสต๊อกสินค้าที่มากเกินไปจะทำให้ธุรกิจสูญเสียโอกาสในการลงทุนหรือทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องได้ หากธุรกิจนำ Digital Transformation มาปรับใช้โดยการนำระบบการจัดการคลังสินค้า (WMS) จะช่วยให้เรารู้ว่าในคลังสินค้าเหลือสินค้าอยู่เท่าไหร่ การไหลของสินค้าภายในคลังเป็นอย่างไร เมื่อเรามีข้อมูลดังกล่าวจะทำให้เราสามารถจัดการกับคลังสินค้าได้ง่ายขึ้น บวกกับการที่เราจะมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และยังช่วยไม่ให้สินค้าเหลือค้างสต๊อกจำนวนมาก

3.การขนส่ง (Transportation)

เป็นการวางแผนหรือจัดแผนการเดินทาง เพื่อใช้เวลาและใช้พลังงานน้อยที่สุด สำหรับธุรกิจที่จะต้องมีการส่งสินค้าไปให้กับลูกค้า ก็ควรจะศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้กับการส่งสินค้าของตนเอง เพื่อให้ระยะในการขนส่งสั้นที่สุดและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ยังรวมถึงการขนส่งภายในองค์กรด้วย เช่น การขนส่งพัสดุจากสาขาหนึ่งไปยังอีกสาขาหนึ่ง การส่งเอกสารระหว่างแผนก เป็นต้น หากนำ Digital Transformation มาปรับใช้ในกรณีของการส่งสินค้าไปยังลูกค้า ซึ่งจะเป็นการนำข้อมูลที่อยู่ของลูกค้าที่มีอยู่แล้วนำมาจัดเส้นทางในการขนส่ง โดยอาจจะนำระบบการให้บริการข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ประกอบการตัดสินใจในการจัดเส้นทางหรือใช้ในการเดินทางได้

4.การเคลื่อนไหว (Motion)

การเคลื่อนไหวของบุคลากรในองค์กร ตั้งแต่เครื่องจักรไปจนถึงการเคลื่อนไหวของบุคลากรทุกคนภายในองค์กร เช่น การเดินติดต่อสอบถามระหว่างแผนก การขึ้น-ลงระหว่างชั้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับองค์กร แต่หากคำนวณเวลาที่บุคลากรใช้ในการเคลื่อนไหวในภาพรวมที่เป็นเดือนหรือเป็นปีก็อาจจะเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ได้ หากเรานำ Digital Transformation มาใช้ก็จะช่วยลดการเคลื่อนไหวภายในองค์กรได้ เช่น การนำข้อมูลที่อยู่ในรูปเอกสารแบบดั้งเดิมเปลี่ยนเป็นมาอยู่ในรูปของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สิ่งนี้ก็จะเป็นการช่วยให้บุคลากรไม่ต้องเดินไปหากันเพื่อส่งมอบเอกสาร หรือในตอนที่ทำงานร่วมกันระหว่างแผนก และจะเป็นการช่วยให้องค์กรประหยัดค่าเอกสารอีกด้วย

5.กระบวนการผลิต (Processing)

ในกระบวนการผลิตอาจจะมีการทำซ้ำ ทำพลาด หรือทำช้า สิ่งนี้จะเป็นการสูญเสียในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายภายในองค์กร ซึ่งอาจจะทำให้การส่งมอบสินค้าไปให้กับลูกค้าเกิดความล่าช้าได้ เมื่อนำ Digital Transformation มาปรับในการนำเทคโนโลยีหรือการนำเครื่องจักรมาช่วยในกระบวนการผลิตจะช่วยลดความผิดพลาดในกระบวนการผลิตได้

6.การรอคอย (Delay)

เป็นการที่รอหรือการหยุดทำงาน เช่น แผนกทำสีรอแผนกชิ้นส่วนส่งชิ้นส่วนมาให้ การที่เครื่องจักรหยุดทำงานเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบในการผลิต เป็นต้น ยิ่งมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนมากเพียงใด การสูญเสียจากการรอคอยก็จะยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว หากธุรกิจนำ Digital Transformation มาปรับใช้ในการวางระบบในขั้นตอนการผลิต ดูว่าแต่ละแผนกใช้เวลาเท่าไหร่ในการผลิต และในหนึ่งชิ้นงานต้องใช้ชิ้นส่วนไหนบ้าง เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาวางแผนในการผลิตที่ให้เกิดการรอคอยน้อยที่สุด

7.การผลิตของเสีย (Defect)

เป็นการผลิตที่ผลิตแล้วสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จะทำให้ธุรกิจสูญเสียเวลาและเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ และหากนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และมีระบบการผลิตที่มีมาตรฐานก็จะช่วยให้ธุรกิจของเราผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และลดความสูญเสียในการผลิต นี่ก็เป็นการ Transformation ธุรกิจเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ภายในองค์กรเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด เพียงแต่ต้องใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับธุรกิจและองค์กรของเราเท่านั้นเอง ส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจ Transformation ตนเองได้สำเร็จได้นั้นบุคลากรทุกคนต้องมีมุมมอง และเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันด้วย

(ที่มา : https://www.prosoft.co.th/Article/Detail/132788)

(ที่มา : https://thaiwinner.com/what-is-lean/)

เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทีมด้วย Workflow ให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด