Transformation Business Model Canvas และ Digital Transformation เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

Business Model Canvas

ด้านบนคือหน้าตาของ The Business Model Canvas เป็นเทมเพลตสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งหัวข้อหลักเป็น 9 ช่อง แต่ละช่องจะช่วยทำให้เรามองเห็นรายละเอียดในธุรกิจของตัวเอง รวมไปถึงจุดเด่นจุดด้อย และที่สำคัญ BMC (Business Model Canvas) จะช่วยให้ทีมของเรามองเห็นภาพรวมของธุรกิจ ลดโอกาสผิดพลาด ทำให้การสื่อสารภายในทีมที่ทุกคนทำงาน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รับรู้และเข้าใจพร้อม ๆ กันว่า ตอนนี้มีปัญหาอะไร เกิดอะไรขึ้น เพิ่มและลดส่วนไหน  

เมื่อเราทำ Business Model Canvas แล้วมีความเข้าใจในตัวธุรกิจที่ทำอยู่ เราสามารถนำ กระบวนการทำ Digital Transformation มาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นได้ เช่น
- ลดกระบวนการบางขั้นตอนออกแล้วใช้เทคโนโลยีแทน สะดวก และประหยัดเวลา
- Work From Home องค์กรที่มีกระบวกการทำ Digital Transformation ไปเรียบร้อยแล้ว ก็แค่ออกคำสั่งให้ทำงานจากที่บ้าน พนักงานก็เริ่มงานได้ทันที
- การบริหารจัดการหน้าร้าน POS เข้ามาช่วยลดขั้นตอน ลดเวลาการทำงาน และลดข้อผิดพลาดของพนักงานที่ประจำอยู่หน้าร้าน
- ร้านอาหารที่มีระบบรับคำสั่งออเดอร์จัดพิมพ์ออเดอร์ไปยังที่พิมพ์ในห้องครัว ได้ทันที สะดวกรวดเร็ว ลดข้อผิดพลาด
พูดถึงตัวอย่างการนำเทคโนโลยี และแนวคิดของกระบวนการทำ Digital Transformation มาพอสมควรแล้ว คงจะทำให้หลาย ๆ คนเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น เรามาต่อกันด้วยเรื่อง Business Model Canvas ว่าทำอย่างไรไปดูกัน

Business Model Canvas มีองค์ประกอบดังนี้

1. ลูกค้า (Customer Segments : CS) ผู้ซื้อสินค้าและบริการ
2. คุณค่า (Value Propositions : VP) สิ่งที่ลูกค้าได้รับจากการใช้สินค้าหรือบริการ
3. ช่องทาง (Channels : CH) ช่องทางการขายสินค้าหรือบริการ และเป็นที่สื่อสารระหว่างผู้ขายกับลูกค้า
4. ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships : CR) วิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
5. กระแสรายได้ (Revenue Streams : RS) ธุรกิจนี้มีรายได้มาจากอะไร วิธีการหารายได้ของธุรกิจนี้
6. ทรัพยากรหลัก (Key Resources : KR) สิ่งที่ต้องมีในการดำเนินธุรกิจ
7. กิจกรรมหลัก (Key Activities : KA) กิจกรรมหลักที่ธุรกิจต้องทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้
8. พันธมิตรหลักหรือคู่ค้า (Key Partners : KP) หุ้นส่วนทางธุรกิจที่มาส่งเสริมหรือเติมเต็มให้ธุรกิจเราแข็งแกร่งและยั่งยืนมากขึ้น
9. โครงสร้างต้นทุน (Cost Structure : CS) ต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจ

1. กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ก่อนว่าเรานำสินค้ามาขาย หรือบริการให้ใครหรือใครคือลูกค้าเป้าหมายหลักของเรา เช่น สินค้าที่ขายสำหรับผู้สูงอายุ เราจะต้องรู้และระบุให้ชัดเจนว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้อาศัยอยู่ที่ไหน ในเมือง ในชุมชนหรือต่างจังหวัด เป็นผู้สูงอายุ เพศชายหรือเพศหญิง อายุประมาณเท่าไหร่ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละเท่าไหร่ เราจะได้ทำการประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด และออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ถูกกลุ่ม โดยเราสามารถใช้เกณฑ์การแบ่งกลุ่มลูกค้าได้ ดังนี้

- ด้านภูมิศาสตร์ จะแบ่งออกตามสถานที่ เช่น จังหวัด หรือภูมิภาคที่อยู่อาศัย เจ้าของธุรกิจจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไปและจะมีการวิเคราะห์ลักษณะและพฤติกรรมของแต่ละกลุ่ม

- ด้านประชากรศาสตร์ จะแบ่งออกเป็น ขนาดของครอบครัว เพศ อายุ รายได้ การศึกษา อาชีพเป็นการแบ่งกลุ่ม เพื่อให้เห็นความชัดเจนของ พฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการของผู้บริโภค จะเกี่ยวข้องกับตัวแปรทางประชากรศาสตร์ และการวัดผลทางประชากรศาสตร์ จะสามารถวัดผลได้ง่าย

- ด้านจิตวิทยา เราจะใช้เกณฑ์การแบ่งตามความแตกต่างกัน ในเรื่องของการดำรงชีวิตของผู้บริโภค เช่น บุคลิกลักษณะ อารมณ์ และพฤติกรรม เป็นต้น

- ด้านพฤติกรรมศาสตร์ การแบ่งตามพฤติกรรมศาสตร์ ใช้หลักเกณฑ์ในเรื่องของความรู้ และทัศนคติ การใช้ผลิตภัณฑ์และการตอบสนองต่อคุณสมบัติ ผลิตภัณฑ์ หรือจะเป็นโอกาสในการซื้อผลิตภัณฑ์ในการใช้แบ่งส่วนตลาด

2. คุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ

คุณค่าหรือสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้าหรือบริการนั้น ๆ การมอบคุณค่าของสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในทุกวันนี้ และจะเป็นตัวกำหนดว่าลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายอยากใช้สินค้าหรือบริการของเราหรือไม่หากว่าคุณค่าที่เรามอบให้ลูกค้า ไม่ได้ตอบโจทย์หรือตรงตามความต้องการของลูกค้า ก็จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่มีประโยชน์จากการซื้อสินค้าหรือบริการของเรา

ตัวอย่างเช่น STARBUCKS การดื่มกาแฟที่ STARBUCKS จะทำให้ลูกค้ารู้สึกดูดีจากการดื่มกาแฟ เช่น การดื่มกาแฟภายในร้าน STARBUCKS และไม่ว่าลูกค้าจะถือแก้ว STARBUCKS ออกไปนอกร้านก็ตาม หรือการที่ลูกค้าถ่ายรูปกาแฟของ STARBUCKS โพสต์ลง Social ก็ทำให้ลูกค้าดูดีในโลก Social และลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการบริการของพนักงานและบรรยากาศภายในร้าน ถ้าหากเป็นการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจร้านค้าหรือองค์กรขนาดเล็ก

ตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร โชห่วยขนาดเล็ก การเปลี่ยนจากการใช้ถุงพลาสติกเป็นถุงกระดาษใส่สินค้าหรือใส่อาหารให้กับลูกค้า จะทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมในการช่วยลดโลกร้อน ลดใช้ถุงพลาสติก ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีหรือมีความภูมิใจการซื้อสินค้าจากร้านของเรา

3. ช่องทางหรือช่องทางการสื่อสารกับลูกค้า

เป็นจุดกลางที่แบรนด์กับลูกค้าใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหนก็ตาม และช่องทางเหล่านั้นไม่เพียงแต่ใช้ในการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ของตัวสินค้าได้อีกด้วย หากองค์กรทำการ Transform ปรับใช้ในการเพิ่มช่องทางออนไลน์ เพื่อให้การติดต่อสื่อสารและการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น เพิ่มช่องทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook, Instagram เป็นต้น แต่ในการที่จะเพิ่มช่องทางการสื่อสารหรือช่องทางการจัดจำหน่ายนั้น ต้องคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหลัก ดูว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรามีการดำเนินชีวิตอย่างไร ใช้แพลตฟอร์มใดในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เราเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์กับแพลตฟอร์มที่ไม่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรา

4. ความสัมพันธ์กับลูกค้า

เป็นบริการหลังการขายหรือการทำการตลาดหลังการขายเพื่อทำให้ลูกค้าประทับใจในการใช้บริการของเราและทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำและเกิดการบอกต่อ การทำความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อให้มั่นใจว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวกับลูกค้าจะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง สามารถนำปรับปรุงกระบวนการขายและเพิ่มประสิทธิภาพภายในทีม อย่าง Line OA  ที่สามารถใช้ในการดูแลบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เป็นอย่างดีด้วยฟีเจอร์หลาย ๆ อย่างที่สามารถใช้งานได้ฟรี จะช่วยให้ธุรกิจของคุณดูแลลูกค้าได้ตลอด 24 ชม. ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำ Digital Transformation ภายในองค์กรเช่นกัน

5. กระแสรายได้

วิธีการหรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดรายได้ของธุรกิจ เช่น ใช้ฟรีช่วงแรกค่อยเก็บเงินทีหลัง ค่าลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร พรีออเดอร์ ใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น ซื้อมา-ขายไป แฟรนไชส์ เป็นต้น เราสามารถนำ Digital Transformation มาปรับใช้ในการคำนวณรายได้ในแต่ละเดือน โดยอิงข้อมูลรายได้ในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

ตัวอย่างธุรกิจ Netflix ที่ให้ใช้ฟรีก่อนในช่วง 1 เดือนแรกจากนั้นเดือนต่อมาจะทำการเก็บเงินค่าใช้บริการ และการปรับจากธุรกิจดั้งเดิมที่เป็นร้านเช่าวิดีโอที่ลูกค้าต้องมาเช่าที่ร้านมาให้บริการหนังคือเน้นให้เช่า DVD ผ่านทางเว็บไซต์ (ในช่วงแรกของธุรกิจ) และหันมาพัฒนาระบบ Movie Recommendation ช่วยแนะนำภาพยนตร์เรื่องใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า

6. ทรัพยากร​หลัก

สิ่งที่ธุรกิจ​จำเป็นต้องมีในการดำเนิน​งานหรือเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจ​เติบโตขึ้น ได้แก่

  6.1 คนหรือบุคลากร
      เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ​ เพราะบุคลากรคือสิ่งที่ขับเคลื่อน​ให้ธุรกิจ​อยู่รอด เติบโต หรือล้มละลายได้ ในการจะดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดจำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความเชื่อมั่นที่บุคคลากรมีต่อธุรกิจ

  6.2 เงินทุน
      เป็นหนึ่งในฟันเฟือง​ที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้ การทำธุรกิจจะต้องมีการจัดสรร​รายได้กับค่าใช้จ่ายให้ดี เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่อง​ของธุรกิจ เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ล้มจากการขาดทุนแต่ล้มจากการขาดสภาพคล่อง การนำ Digital Transformation มาปรับใช้ช่วยให้ผู้บริหารเห็นกระแสเงินเข้า เงินออกของธุรกิจได้ตลอดเวลา ส่งผลให้การบริหารหรือการจัดการกับเงินที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยป้องกันธุรกิจขาดสภาพคล่องได้

6.3 วัตถุดิบ
      เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิต โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพราะเราต้องมีการสั่งวัตถุดิบ​ในการผลิตไม่ให้มากหรือน้อยเกินไปจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า การนำ Digital Transformation มาปรับใช้จะช่วยลดกระบวนการนับจำนวนวัตถุ สามารถคำนวณปริมาณสินค้าที่จะผลิตได้จากจำนวนวัตถุดิบคงเหลือได้ เมื่อมีการคำนวณแล้วว่าวัตถุดิบเหลือน้อยหรือตั้งระบบไว้ว่าวัตถุดิบเหลือเท่านี้เหลือเท่านั้น ระบบก็จะสั่งวัตถุดิบมาอัตโนมัติ

6.4 วิธีการปฏิบัติ​งาน
      เป็นกระบวนการ​ทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนไปถึงกระบวนการสุดท้าย ซึ่งต้องทำให้ผู้ที่ไม่เคยทำงานสามารถทำงานได้เมื่อทำตามกระบวนการ​ทำงาน นำ Digital Transformation มาช่วยลดกระบวนการทำงาน เช่น จากเดิมที่เวลาเซ็นเอกสารต้องเดินไปให้ผู้บริหารเซ็น เราสามารถส่งไฟล์ไปให้ผู้บริหารเซ็นผ่านมือถือได้เลย เพราะบางครั้งผู้บริหารอาจจะไม่ได้อยู่ที่บริษัทตลอดเวลา

7. กิจกรรมหลักหรือธุรกิจ​เราทำอะไร

เป็นการระบุว่าธุรกิจของเราทำอะไรมีสินค้าหรือบริการอะไร และมีขั้นตอนการปฏิบัติ​งานอย่างไร เช่น โชห่วยซื้อสินค้าจากร้านขายส่งมาขายสินค้าให้กับผู้ซื้อรายย่อย เป็นต้น การนำ Digital Transformation มาใช้กับระบบการนับสต็อกสินค้าภายในร้านโชห่วยจะช่วยให้ร้านโชห่วยประหยัดเวลาในการนับสต็อกสินค้า อีกทั้งยังทำให้ทราบอีกว่าสินค้าชนิดไหนขายดี ขายดีในช่วงเวลาไหน จะได้ซื้อสินค้าเข้าร้านได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

8. พันธมิตรหลักหรือคู่ค้า

อาจจะเป็นองค์กร​ ภาครัฐ หรือเอกชนที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจ​เราเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ​ที่มีคุณภาพดีขึ้นหรือเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมอีกทาง การมีพันธมิตรหรือคู่ค้าเป็นสิ่งที่หลายคนนึกไม่ถึง และด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีการแข่งขันที่สูง คู่แข่งทางธุรกิจมีเป็นจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารทำให้การศึกษาการทำธุรกิจสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่การนำ Digital Transformation มาปรับใช้ในการติดต่อสื่อสารกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปมาหาสู่กัน

9. โครงสร้างต้นทุน หรือ ต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจ

ซึ่งในแต่ละธุรกิจจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจอยู่เสมอ โดยต้นทุนของธุรกิจหรือต้นทุนในการดำเนินธุรกิจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

1. ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)

เป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเป็นประจำ เช่น ค่าเช่าตึกหรือสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น

2. ต้นทุนผันแปร (Variable Cost)

เป็นต้นทุนที่จ่ายตามการใช้งานของเรา เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น

การนำ Digital Transformation เข้ามาช่วยธุรกิจหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรคำนวณโครงสร้างของต้นทุนทั้งหมดภายในธุรกิจได้โดยการใช้เทคโนโลยี เช่น การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการคำนวณหรือวิเคราะห์ต้นทุนต่าง ๆ ขององค์กรของเราหรือการใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างรายรับรายจ่ายขององค์กร และการอิงข้อมูลค่าใช้จ่ายในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพื่อพยากรณ์ค่าใช้จ่ายในเดือนนั้น ๆ ได้ ข้อดีของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการช่วยคำนวณต้นทุน คือ สะดวกรวดเร็วและมีความแม่นยำในการคำนวณต้นทุนขององค์กรหรือรายได้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ขององค์กร เพียงแค่กรอกตัวเลขตามแบบฟอร์มที่มีอยู่ ระบบก็จะคำนวณจำนวนเงินออกมาได้เลย ส่งผลให้องค์กรทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า  Digital Transformation มีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจอย่างมาก หากเรามีการปรับใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจจะช่วยให้ธุรกิจของเราพัฒนา และเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างก้าวกระโดด และหากเราไม่มีการปรับตัวเราก็จะไม่สามารถก้าวทันโลกธุรกิจและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป  Digital Transformation เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การวางยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ของผู้นำที่พร้อมจะมีการรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง โดยการใช้นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ การนำสิ่งต่าง ๆ มาใช้อย่างครบถ้วน รวมถึงแนวคิดการมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กร จึงจะนำได้ว่าเป็น Digital Transformation อย่างแท้จริง

อ้างอิง: https://www.set.or.th/set/enterprise/html.do?name=bmc

เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทีมด้วย Workflow ให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด